"กรุงเทพมาราธอน" (Bangkok Marathon) คือการจัดงานแข่งขันวิ่งมาราธอนประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มมานับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้กำหนดวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันจัดงานในทุกรอบปี จึงกำหนดให้เรียกว่า "กรุงเทพมาราธอน" มีบริเวณจัดงาน (จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขัน) อยู่ที่บนถนนสนามไชย ด้านหน้าพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วหรือหน้ากระทรวงกลาโหม มีการปิดการจราจรในบริเวณดังกล่าวในวันจัดงาน กล่าวได้ว่าเป็นบริเวณจัดงานที่มีสถานที่แวดล้อมอลังการสง่างามที่สุด
การวิ่งมาราธอนเป็นการวิ่งระยะยาว 42.195 กิโลเมตร (26 ไมล์ 385 หลา) เป็นกรีฑาแข่งขันชนิดที่โดดเด่นประเภทหนึ่งของโอลิมปิคเกมส์ และเกมส์กีฬาสำคัญต่างๆ แม้การวิ่งมาราธอนจะเป็นสิ่งที่หนักเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายให้นักวิ่งสมัครเล่นทั่วไปตั้งใจจะพิชิตเพื่อเป็นเกียรติประวัติของชีวิต ประการสำคัญประโยชน์ที่สำคัญจะอยู่กับตนเองก็ตรงที่ขณะที่มีการเตรียมการฝึกซ้อมผลจากความมานะอุตสาหะ โดยการวิ่งอย่างสม่ำเสมอจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในแต่ละวัน เช่น ฝึกซ้อมวิ่ง วันละ 5-10-15 กิโลเมตร หรือ 30-50 กิโลเมตรต่อสัปดาห์นั้น แน่นอนในที่สุดอานิสงส์จากข้อปฏิบัติดังกล่าว ร่างกายของคุณจะแข็งแกร่ง สุขภาพกาย สุขภาพจิตบริบูรณ์อย่างเยี่ยมยอดการวิ่งดูเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เกิดมาต้องวิ่งเพียงแต่เราเกิดมาแล้วหยุดวิ่งมาเกือบตลอดชีวิต บางคนถึงกับเป็นง่อยเปลี้ยสุขภาพเสีย ใช้แต่เครื่องทุ่นแรง ต้องมาฝึกวิ่งกันใหม่ในชีวิตบั้นปลาย แต่รับรองได้เลยว่า "ถ้าคุณเดินได้ คุณก็จะวิ่งได้" หากคุณเริ่มเสียตั้งแต่บัดนี้ และสักวันหนึ่งข้างหน้าบันไดที่คุณจะก้าวไปสู่สนามวิ่งระดับมาราธอนนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกินฝัน ข้อสำคัญมันอยู่ที่ใจคุณมีเท่าไหร่ เช่นในปีนี้คุณอาจวิ่งได้ในระยะ 5 กิโลเมตร ปีถัดไป 10 กิโลเมตร และจะสามารถก้าวไกลต่อๆไปได้อย่างราบรื่นจนถึงที่สุดที่คุณจะเอาชนะได้ด้วยตัวคุณเอง การวิ่งเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ทุกคนจะได้เรียนรู้เพื่อนำพาไปสู่การวิ่งที่มีประสิทธิภาพหรือเป้าหมายที่วางไว้ เพราะการวิ่งมิใช่เพียงแต่การสาวเท้าก้าวไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว มีสิ่งประกอบมากมายที่จะต้องรู้ว่า ทำอย่างไรจะวิ่งได้อย่างมีความสุข วิ่งได้นานๆ วิ่งได้ไกลๆ และวิ่งได้สุขภาพพลานามัย
ถึงแม้ว่าการแข่งขันวิ่งมาราธอนจะเกิดขึ้นในโอลิมปิคเกมส์ ครั้งแรกที่เอเธนส์ เมื่อปี 1896 ผู้มีสิทธิได้เข้าแข่งขันก็จะมีแต่นักกรีฑาที่ได้รับการคัดเลือกและเป็นทีมชาติของแต่ละชาติเท่านั้น แต่ที่เมืองบอสตัน-สหรัฐอเมริกา ก็ได้เริ่มเปิดศักราชการวิ่งมาราธอนเช่นเดียวกันแตกต่างกันก็ตรงที่ว่าเป็นสนามแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมแข่งได้อย่างเสรีตราบจนทุกวันนี้ บอสตันมาราธอนกลายเป็นงานวิ่งประเพณีที่ยาวนานที่สุดในโลก จัดต่อเนื่องกันมาทุกปี ปัจจุบันเมืองต่างๆ ทั่วโลกนิยมจัดให้มีการวิ่งมาราธอนประเพณีประจำเมืองของตนมากกว่า 400 สนามในกว่า 110 ประเทศ เช่น นิวยอร์คมาราธอน ลอนดอนมาราธอน เบอร์ลินมาราธอน และมาราธอนในญี่ปุ่น ซึ่งในแต่ละปีในเมืองใหญ่ๆ จะมีนักวิ่งมาราธอนเข้าร่วมแข่งขันจำนวนมากถึง 30,000 - 40,000 คนทีเดียว กล่าวได้ว่าในประเทศที่เจริญแล้วนั้นได้เห็นประโยชน์จากการวิ่ง การจัดให้มีงานวิ่งประเพณีของเมืองต่างๆนั้นเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์ให้สังคมดีมีประชาชนให้ความสนใจต่อการออกกำลังกายอย่างยั่งยืนถาวร คนติดวิ่งแล้วจะไม่ยอมเลิกรา หากไม่เชื่อคุณลองไปสนทนาเรื่องนี้กับคนที่เขาวิ่ง อยู่เป็นประจำ แล้วคุณจะรู้สึกได้ว่าตัวคุณเองมิอาจจะปฏิเสธการวิ่งต่อไปได้อีกแล้ว การที่เมืองใดสามารถจัดให้มีงานวิ่งมาราธอนประเพณีได้อย่างสม่ำเสมอและก้าวหน้าพัฒนาให้ยิ่งใหญ่จนเป็นที่ยอมรับของชาวเมืองและชาวโลกได้ ก็กล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จในการบริหารบ้านเมือง ด้านสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน การที่เราจัดให้มี "กรุงเทพมาราธอน" เป็นงานวิ่งที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยก็เพราะด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นประเด็นสำคัญ